ภายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราใช้งานกันอยู่เป็นประจำทุกวัน จำเป็นต้องมีวงจรไฟฟ้าสำหรับทำหน้าที่ในการส่งกระแสไฟให้อุปกรณ์ต่าง ๆ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ
ในบทความนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจถึงบทบาทของวงจรไฟฟ้ามากขึ้น โดยเราจะขอพาไปทำความรู้จักวงจรไฟฟ้าว่าคืออะไร และส่วนประกอบของวงจรไฟฟ้ามีอะไรบ้าง เพื่อที่หากเกิดเหตุเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เราจะได้สามารถคาดเดาความเสียหายของวงจรไฟฟ้า และสามารถแจ้งแก่ช่างในเบื้องต้นได้ ช่วยลดปัญหาการซ่อมผิดจุด หรือต้องซ่อมเสียเที่ยว อีกทั้งยังช่วยให้เราหาทางตัดกระแสไฟฟ้าได้อย่างถูกต้อง ช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ตนเองและคนในครอบครัวอีกด้วย
วงจรไฟฟ้า คืออะไร?
วงจรไฟฟ้า คือระบบที่รวมส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เป็นสื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านไว้ด้วยกัน สำหรับเป็นเส้นทางในการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ให้สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยวงจรไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
วงจรปิด
เป็นวงจรที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านครบวงจร ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่ออยู่กับวงจรไฟฟ้าทำงาน ซึ่งวงจรนี้จะเกิดขึ้น เมื่อตอนที่เปิดสวิตช์นั่นเอง
วงจรเปิด
เป็นวงจรที่กระแสไฟฟ้าไม่สามารถไหลผ่านได้ครบทั้งวงจร จึงไม่สามารถจ่ายไฟไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ทำงาน โดยปกติมักเกิดจากการปิดสวิตช์ แต่สามารถเกิดขึ้นจากความผิดปกติของส่วนประกอบของวงจรไฟฟ้าได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น สวิตช์ชำรุด สายไฟหลุด สายไฟขาด เป็นต้น
ส่วนประกอบของวงจรไฟฟ้ามีอะไรบ้าง?
แหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า
เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่หลักในการจ่ายแรงดันและกระแสไฟฟ้าเข้าสู่วงจรไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ ถ่านอัลคาไลน์ เครื่องจ่ายไฟ ไดนาโม เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น
ตัวนำไฟฟ้า
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ต่อกับแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า มีลักษณะเป็นสายที่มีลวดตัวนำไฟฟ้าอยู่ด้านใน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสื่อให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านจากขั้วหนึ่งไปยังอีกขั้วหนึ่ง เพื่อให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานได้อย่างเป็นปกติ โดยตัวนำไฟฟ้าที่ดีที่สุด คือ โลหะเงิน แต่ไม่นิยมนำมาใช้ เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง ผู้ผลิตจึงหันมาใช้ทองแดง ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน และมีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าได้ดีเช่นกันมาทดแทน นอกจากนั้น ยังมีโลหะชนิดอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้นำไฟฟ้าได้ เช่น ดีบุก เหล็ก อะลูมิเนียม นิกเกิล เป็นต้น
โหลดหรือภาระทางไฟฟ้า
เป็นชื่อที่ใช้ในการเรียกอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่นำมาต่อเข้ากับวงจรไฟฟ้า เพื่อรับกระแสไฟฟ้ามาใช้ให้สามารถทำงานได้ เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ เตารีด หลอดไฟ เป็นต้น
สวิตช์
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเปิดหรือปิดวงจรไฟฟ้า โดยอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จำเป็นต้องมีการต่อสวิตช์ เพื่อเปิดให้มีการไหลของกระแสไฟฟ้า เมื่อต้องการให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงาน และปิดการไหลของกระแสไฟฟ้า เมื่อต้องการให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหยุดทำงานนั่นเอง
ฟิวส์
เป็นส่วนประกอบของวงจรไฟฟ้าที่มองข้ามไปไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกิดความเสียหาย หากวงจรไฟฟ้าทำงานผิดปกติ เช่น เกิดการโหลดกระแสไฟฟ้าเกิน หรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจร โดยฟิวส์จะทำหน้าที่ปิดวงจรทันทีเมื่อเกิดเหตุดังกล่าว ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ได้อีกด้วย
รูปแบบการต่อวงจรไฟฟ้ามีอะไรบ้าง?
เมื่อรู้กันแล้วว่าส่วนประกอบของวงจรไฟฟ้ามีอะไรบ้าง เรามาดูรูปแบบของการต่อวงจรไฟฟ้ากัน
แบบอนุกรม
เป็นการต่อวงจรไฟฟ้า แบบนำเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ อันมาเรียงต่อกัน หรือนำเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวที่ 1 ไปต่อกับต้นทางของเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวที่ 2 และต่อกันไปเรื่อย ๆ เหมือนลูกโซ่ หากเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวใดตัวหนึ่งเปิดวงจรหรือกระแสไฟฟ้าขาด จะทำให้วงจรทั้งหมดไม่ทำงาน
แบบขนาน
เป็นการรวมเอาต้นทางของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกเครื่องมาต่อรวมกัน แล้วจึงต่อเข้ากับแหล่งกำเนิดไฟฟ้าหนึ่งจุด และนำเอาปลายทางของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกเครื่องมารวมกัน แล้วต่อเข้ากับแหล่งกำเนิดไฟฟ้าอีกหนึ่งจุด ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละอันกลายเป็นวงจรย่อย กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านได้หลายทาง เมื่อมีเครื่องใช้ไฟฟ้าตัวใดตัวหนึ่งเปิดวงจร หรือขาด เครื่องใช้ไฟฟ้าตัวอื่นก็ยังสามารถทำงานได้เป็นปกติ โดยการต่อวงจรไฟฟ้าในรูปแบบนี้ นิยมใช้กับการต่อวงจรไฟฟ้าสำหรับใช้ในครัวเรือนนั่นเอง
แบบผสม
เป็นการต่อวงจรที่ผสมผสานระหว่างวงจรไฟฟ้าแบบอนุกรมและแบบขนาน แต่ไม่ค่อยนิยมใช้กัน เนื่องจากมีความยุ่งยาก มักนำไปใช้ในการต่อวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีลักษณะเฉพาะของงานเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ คงช่วยให้คุณรู้จักเกี่ยวกับวงจรไฟฟ้ากันมากขึ้น และสามารถใช้งานด้วยความเข้าใจ เพื่อความปลอดภัยของคุณและคนในครอบครัว
ในส่วนของผู้ประกอบการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือวงจรไฟฟ้า ที่กำลังมองหาแหล่งรับผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ TexFocus เราคือผู้ให้บริการผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเชี่ยวชาญและสร้างชื่อเสียงในฐานะมืออาชีพมานานกว่า 20 ปี พร้อมให้บริการในราคาที่คุ้มค่า และให้คำปรึกษาอย่างครบวงจร ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-593-2000 หรือทางอีเมล contact@texfocus.co.th