“โลหะแผ่น” คือส่วนประกอบสำคัญในการผลิตชิ้นงาน เพื่อใช้ประกอบเป็นสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งวิธีการขึ้นรูปโลหะแผ่นมีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหล่อขึ้นรูป หรือการตีขึ้นรูป แต่วิธีขึ้นรูปโลหะแผ่นให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้งานต่อได้ง่ายที่สุดคือ การปั๊มขึ้นรูปโลหะแผ่น ซึ่งมีอยู่หลายกระบวนการด้วยกัน และเพื่อให้เข้าใจว่าวิธีการขึ้นรูปโลหะแผ่นมีกระบวนการอย่างไร เราจะมาบอกให้ได้รู้กัน
รู้จักการปั๊มขึ้นรูปแผ่นโลหะ
การขึ้นรูปโลหะแผ่น หรือการปั๊มขึ้นรูปโลหะแผ่น (Metal Forming Process) คือกระบวนการผลิตประเภทหนึ่ง โดยใช้แม่พิมพ์หรือเครื่องมือเฉพาะ เพื่อเปลี่ยนรูปร่างของโลหะแผ่น (Sheet Metal) ให้เป็นผลิตภัณฑ์หรือชิ้นงานที่มีรูปร่างตามต้องการ นิยมนำไปใช้กับการผลิตโครงสร้างและส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เครื่องบิน รวมถึงเครื่องจักรในอุตสาหกรรม
กระบวนการขึ้นรูปโลหะแผ่นพื้นฐานหลัก
การตัด (Cutting Process)
การตัดเป็นวิธีขึ้นรูปโลหะแผ่นด้วยแม่พิมพ์ตัวผู้ หรือพันช์ (Punch) และแม่พิมพ์ตัวเมีย หรือดาย (Die) รวมถึงใบมีด เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีรูปร่างตามแบบที่ต้องการ โดยวัตถุดิบยังอยู่ในสภาวะของแข็ง สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายรูปแบบ คือ
- การตัดแผ่นเปล่า (Blanking) เป็นการตัดแผ่นโลหะด้วยพันช์และดาย โดยส่วนที่ถูกตัดออกคือชิ้นงานที่จะนำไปใช้ต่อ และแผ่นโลหะที่เป็นรูคือเศษ
- การเจาะรู (Piercing) เป็นการเจาะแผ่นโลหะด้วยพันช์และดาย เพื่อให้ได้ชิ้นงานมีรูที่รูปร่างและขนาดเท่ากับพันช์ และนำแผ่นโลหะที่ถูกเจาะรูนี้ไปใช้งาน ส่วนแผ่นโลหะที่หลุดออกจะกลายเป็นเศษ
- การตัดแบ่ง (Parting) เป็นการใช้ใบมีดสองใบตัดแยกชิ้นงานตามแนวของแบบ เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่เป็นแผ่นเปล่าสำหรับนำไปใช้ต่อ และมีส่วนที่เป็นเศษหลุดออกมาด้วย
- การตัดเฉือน (Shearing) เป็นการใช้ใบมีดตัดแผ่นโลหะให้เป็นชิ้นงานที่มีเส้นตรง มักจะใช้ในการตัดชิ้นงานขนาดใหญ่ให้เล็กลง หรือเอาส่วนที่ไม่ต้องการออก
- การตัดบาก (Notching) เป็นการตัดชิ้นงานด้วยพันช์ บริเวณขอบของชิ้นงาน เพื่อให้ชิ้นงานมีรูปร่างของขอบเหมือนส่วนของพันช์ที่ตัดลงมา โดยส่วนที่หลุดออกไปจะเป็นเศษ
- การตัดขอบ (Trimming) เป็นการตัดขอบที่ไม่ใช้ของชิ้นงานออกด้วยพันช์และดาย
- การฝานขอบ (Shaving) เป็นการตัดแต่งขอบของชิ้นงานที่ผ่านการตัดแผ่นเปล่าหรือการเจาะรูมาแล้ว
การดัดงอ (Bending Process)
การดัดงอเป็นการขึ้นรูปโลหะแผ่น ด้วยการงอขึ้นรูป เพื่อให้แผ่นโลหะเปลี่ยนแปลงรูปไปอย่างถาวร โดยมีพันช์เป็นตัวกดชิ้นงานให้งอตามแม่พิมพ์รูปต่าง ๆ ซึ่งที่นิยมนำมาใช้งานกันคือ แม่พิมพ์รูปตัววี แม่พิมพ์รูปตัวยู และแบบพิมพ์แบบไวปิง
การลากขึ้นรูป (Drawing Process)
การลากขึ้นรูปเป็นการอาศัยแรงกระทำจากการใช้พันช์ดันแผ่นโลหะเข้าไปในดาย โดยไม่มีการยืดของแผ่นโลหะ เพื่อให้ความหนาของแผ่นโลหะเท่ากับช่องว่างระหว่างพันช์และดายพอดี
การปั๊มนูน (Embossing)
การปั๊มนูนเป็นการขึ้นรูปแผ่นโลหะให้เป็นหลุม หรือปุ่มตื้น ๆ โดยที่ความหนาของแผ่นโลหะไม่เปลี่ยนแปลง มักใช้กับการทำแผ่นฝ้ายให้มีอักษรนูน
การปั๊มจม (Coining)
การปั๊มจมเป็นการขึ้นรูปโลหะแผ่นให้มีลวดลาย ด้วยการบีบอัดแผ่นโลหะในแม่พิมพ์ โดยลวดลายของชิ้นงานทั้งสองข้างจะไม่เหมือนกัน เป็นวิธีการเดียวกับที่ใช้ทำเหรียญ
การบีบอัด (Swaging)
การบีบอัด (Swaging) เป็นการขึ้นรูปแผ่นโลหะโดยอาศัยการบีบอัดของแม่พิมพ์ ซึ่งจะใช้เป็นแม่พิมพ์แบบเปิด ทำให้เนื้อของโลหะสามารถไหลผ่านแม่พิมพ์ออกมาได้อย่างเป็นอิสระ
ข้อดีของการปั๊มขึ้นรูปโลหะแผ่น
ในส่วนของข้อดีของการขึ้นรูปแผ่นโลหะโดยใช้แม่พิมพ์ หรือเครื่องมือเฉพาะ มีดังต่อไปนี้
- ช่วยให้การขึ้นรูปชิ้นงานที่มีความซับซ้อนง่ายขึ้น
- ได้ชิ้นงานที่สวยเป็นมาตรฐานเท่ากัน โดยไม่ต้องตกแต่งชิ้นงานเพิ่ม
- ชิ้นงานมีความแข็งแรงทนทาน เนื่องจากไม่สูญเสียโครงสร้างภายในของวัตถุดิบระหว่างการขึ้นรูป
- ผลิตชิ้นงานได้รวดเร็ว รองรับการผลิตครั้งละจำนวนมาก ๆ ได้
ทั้งหมดนี้ คงช่วยให้ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้งานโลหะแผ่นที่ขึ้นรูปแล้ว รู้ถึงกระบวนการขึ้นรูปโลหะแผ่นกันดีมากขึ้น และสำหรับใครที่กำลังมองหาบริษัทรับปั๊มโลหะที่ผลิตงานโลหะตามแบบ ที่ TexFocus เรารับขึ้นรูปตามความต้องการ ผลิตภายใต้ความเชี่ยวชาญและสร้างชื่อเสียงในฐานะมืออาชีพมานานกว่า 20 ปี พร้อมให้บริการในราคาที่คุ้มค่า และให้คำปรึกษาอย่างครบวงจร ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-593-2000 หรือทางอีเมล contact@texfocus.co.th
ข้อมูลอ้างอิง
- Sheet metal forming. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 จาก https://engineeringproductdesign.com/knowledge-base/sheet-metal-forming/
- Metal Forming Processes. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 จาก https://www.researchgate.net/publication/341568206_Metal_Forming_Processes
- กระบวนการขึ้นรูปโลหะแผ่น (Sheet Metal Forming Process). สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 จาก https://eng.sut.ac.th/me/2014/document/LabManuIndAuto/C.pdf